ความเป็นมา

รัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นโอกาสในการเฉลิมฉลองการครบรอบ 40 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ด้วยการร่วมพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคอื่นๆ ของไทยเพื่อประโยชน์ในระยะยาวของประชาชน รวมถึงการใช้ตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของไทยในภูมิภาคในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน

สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯ

1. รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการตาม “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565” โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช- แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด (ประมาณ 734 กิโลเมตร) และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ (ประมาณ 133 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลในการดำเนินโครงการความร่วมมือดังกล่าว
2. หลักการในการดำเนินการ มีดังนี้
2.1 ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟและจะมีการหารือการสนับสนุนเงินลงทุนและการชำระเงินลงทุนกันต่อไป
2.2 ให้ฝ่ายจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโอกาสแรกที่เป็นไปได้ในขั้นตอนการเตรียมการของโครงการฯ รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการฯ และจะพยายามให้เริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2559
2.3 ในการประเมินมูลค่าโครงการฯ ให้เป็นการหารือระหว่างไทยกับจีน รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของสองฝ่ายเป็นผู้ประเมิน
2.4 ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการฯ กันต่อไป
3. ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วม เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ ฝ่ายไทยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วม ฝ่ายจีนให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธานร่วม
4. ในการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ระหว่างสองประเทศ
5. หากสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯ ขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า
6. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจแก้ไขโดยความเห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร
7. บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับ ณ วันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี นอกจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 6 เดือนล่วงหน้า ทั้งนี้ หากไม่มีการบอกเลิก บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติอีกครั้งละ 5 ปี

การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ

นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ (Steering Committee) คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะอนุกรรมการ และสำนักงานบริหารโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ (สบร.) ตั้งอยู่ ณ กระทรวงคมนาคม ในส่วนของฝ่ายจีน NDRC ได้มอบหมายให้องค์การรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China Railway: CRC) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจของจีนเป็นผู้รับผิดชอบ CRC ได้มอบหมายให้ TSDI ซึ่งเป็นบริษัทลูก ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและงานสำรวจและออกแบบ (Feasibility Study and Detail Design) โครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) จำนวน 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ–แก่งคอย ช่วงที่ 2 แก่งคอย–มาบตาพุด ช่วงที่ 3 แก่งคอย–นครราชสีมา และช่วงที่ 4 นครราชสีมา–หนองคาย

การเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูง

ในการประชุมหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีจีน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้ข้อยุติในหลักการว่า ไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเอง โดยจ้างจีนเป็นผู้ก่อสร้างโดยไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมทุนใดกับประเทศจีน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินงานจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูงที่ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยฝ่ายจีนได้ดำเนินการปรับปรุงการออกแบบใหม่
ซึ่งต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม “กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565” เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือโครงการรถไฟระหว่างสองฝ่ายต่อไป